ความเป็นมาของโครงการ
วัตถุประสงค์
ขอบเขตพื้นที่โครงการ
ขอบเขตการศึกษาและพัฒนาระบบ

    กรมทรัพยากรน้ำ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค อุทกภัย และหาสมดุลการใช้น้ำของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยให้ศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาวิกฤติน้ำหรือศูนย์เมขลา ขึ้นเป็นหน่วยปฏิบัติการ ดังนั้นเพื่อให้บรรลุภารกิจข้างต้น ศูนย์เมขลาจึงจัดทำโครงการติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติ พร้อมระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ สารสนเทศเพื่อการบริหารและแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้านน้ำท่วม ด้านบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และคุณภาพน้ำแล้วเสร็จ 10 ลุ่มน้ำ ได้แก่ลุ่มน้ำโขง ชี มูล บางปะกง ปราจีนบุรี ยม น่าน เจ้าพระยา ท่าจีนและทะเลสาบสงขลา ซึ่งยังไม่ครอบคลุมลุ่มน้ำทีมีภาวะวิกฤติด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ

    ขณะเดียวกัน ศูนย์เมขลาได้พัฒนาระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ สารสนเทศเพื่อการบริหารและแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้านน้ำท่วม ด้านบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และคุณภาพน้ำ ซึ่งแบบจำลองด้านน้ำท่วมใช้โปรแกรม MIKE 11 รุ่น 2008 แบบจำลองด้านบริหารการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคใช้โปรแกรม MIKE BASIN รุ่น 2008 แบบจำลองคุณภาพน้ำใช้โปรแกรม MIKE 11 Water Quality รุ่น 2008 แต่ยังขาดระบบตรวจวัดสภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติ 7 ลุ่มน้ำ คือลุ่มน้ำปิง วัง สะแกกรัง ป่าสัก ตาปี เพชรบุรี และชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อการพยากรณ์คาดการณ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำตามเวลาจริง

    ขณะที่อีก 5 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำแม่กลอง สาละวิน คลองท่าตะเภา กกและโขงเหนือ ยังไม่มีทั้งระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ สารสนเทศเพื่อการบริหาร แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้านน้ำท่วม ด้านบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค คุณภาพน้ำ รวมไปถึงระบบตรวจวัดสภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติเพื่อการพยากรณ์คาดการณ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำตามเวลาจริง

    ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมของประเทศ ทั้งด้านการอุปโภค บริโภค และอุทกภัย และการหาสมดุลน้ำโดยเฉพาะนอกเขตพื้นที่ชลประทานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมทรัพยากรน้ำ จึงมีแนวคิดพัฒนาระบบพยากรณ์และเตือนภัยทรัพยากรน้ำที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จอีก 12 ลุ่มน้ำ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยจากทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูน้ำหลากที่เกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ และการหาสมดุลน้ำนอกเขตพื้นที่ชลประทาน โดยการนำข้อมูลตรวจวัดแบบตามเวลาจริง (Real Time) จากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ทำการติดตั้งระบบโทรมาตรแล้วเสร็จ เช่น กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เป็นต้น เข้าสู่แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ศูนย์เมขลาได้พัฒนาขึ้น เพื่อทำการประมวลผลการคาดการณ์ การพยากรณ์และเตือนภัยจากสถานการณ์น้ำ ซึ่งผลที่ได้จากแบบจำลองจะนำส่งให้กับผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เพื่อหามาตรการแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป พร้อมกันนี้ยังมีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ได้ทราบสถานการณ์ล่วงหน้าโดยผ่านระบบ Internet เช่นกัน

    ปัจจุบันศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำได้รับบรรจุเจ้าหน้าที่ด้านทรัพยากรน้ำเข้ามาใหม่ ซึ่งยังขาดทักษะในการใช้งานแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ดังนั้นโครงการนี้จึงจัดให้มีการพัฒนาทัศนคติด้านการคาดการณ์ พยากรณ์เตือนภัยและการหาสมดุลน้ำให้กับเจ้าหน้าที่มีความรู้และความชำนาญในการพยากรณ์เตือนภัยได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ

ขอขอบคุณ
© 2016 สงวนสิขสิทธิ์โดย ศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 180 ถนนพระรามที่ 6 ซอย 34 สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 0 2271 6000