กรมทรัพยากรน้ำ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค อุทกภัย และหาสมดุลการใช้น้ำของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยให้ศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาวิกฤติน้ำหรือศูนย์เมขลา ขึ้นเป็นหน่วยปฏิบัติการ
ดังนั้นเพื่อให้บรรลุภารกิจข้างต้น ศูนย์เมขลาจึงจัดทำโครงการติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติ พร้อมระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ สารสนเทศเพื่อการบริหารและแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้านน้ำท่วม ด้านบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และคุณภาพน้ำแล้วเสร็จ 10 ลุ่มน้ำ ได้แก่ลุ่มน้ำโขง ชี มูล บางปะกง ปราจีนบุรี ยม น่าน เจ้าพระยา ท่าจีนและทะเลสาบสงขลา ซึ่งยังไม่ครอบคลุมลุ่มน้ำทีมีภาวะวิกฤติด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ
ขณะเดียวกัน ศูนย์เมขลาได้พัฒนาระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ สารสนเทศเพื่อการบริหารและแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้านน้ำท่วม ด้านบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และคุณภาพน้ำ ซึ่งแบบจำลองด้านน้ำท่วมใช้โปรแกรม MIKE 11 รุ่น 2008 แบบจำลองด้านบริหารการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคใช้โปรแกรม MIKE BASIN รุ่น 2008 แบบจำลองคุณภาพน้ำใช้โปรแกรม MIKE 11 Water Quality รุ่น 2008 แต่ยังขาดระบบตรวจวัดสภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติ 7 ลุ่มน้ำ คือลุ่มน้ำปิง วัง สะแกกรัง ป่าสัก ตาปี เพชรบุรี และชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อการพยากรณ์คาดการณ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำตามเวลาจริง
ขณะที่อีก 5 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำแม่กลอง สาละวิน คลองท่าตะเภา กกและโขงเหนือ ยังไม่มีทั้งระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ สารสนเทศเพื่อการบริหาร แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้านน้ำท่วม ด้านบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค คุณภาพน้ำ รวมไปถึงระบบตรวจวัดสภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติเพื่อการพยากรณ์คาดการณ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำตามเวลาจริง
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมของประเทศ ทั้งด้านการอุปโภค บริโภค และอุทกภัย และการหาสมดุลน้ำโดยเฉพาะนอกเขตพื้นที่ชลประทานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมทรัพยากรน้ำ จึงมีแนวคิดพัฒนาระบบพยากรณ์และเตือนภัยทรัพยากรน้ำที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จอีก 12 ลุ่มน้ำ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยจากทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูน้ำหลากที่เกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ และการหาสมดุลน้ำนอกเขตพื้นที่ชลประทาน โดยการนำข้อมูลตรวจวัดแบบตามเวลาจริง (Real Time) จากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ทำการติดตั้งระบบโทรมาตรแล้วเสร็จ เช่น กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เป็นต้น เข้าสู่แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ศูนย์เมขลาได้พัฒนาขึ้น เพื่อทำการประมวลผลการคาดการณ์ การพยากรณ์และเตือนภัยจากสถานการณ์น้ำ ซึ่งผลที่ได้จากแบบจำลองจะนำส่งให้กับผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เพื่อหามาตรการแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป พร้อมกันนี้ยังมีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ได้ทราบสถานการณ์ล่วงหน้าโดยผ่านระบบ Internet เช่นกัน
ปัจจุบันศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำได้รับบรรจุเจ้าหน้าที่ด้านทรัพยากรน้ำเข้ามาใหม่ ซึ่งยังขาดทักษะในการใช้งานแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ดังนั้นโครงการนี้จึงจัดให้มีการพัฒนาทัศนคติด้านการคาดการณ์ พยากรณ์เตือนภัยและการหาสมดุลน้ำให้กับเจ้าหน้าที่มีความรู้และความชำนาญในการพยากรณ์เตือนภัยได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ
1.ลุ่มน้ำปิง
ลุ่มน้ำปิง เป็นลุ่มน้ำสาขาใน 8 ลุ่มน้ำสาขาหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่รับน้ำฝนทั้งหมดประมาณ 34,856 ตารางกิโลเมตร แม่น้ำปิง มีต้นกำเนิดในทิวเขาผีปันน้ำในเขตอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ไหลจากทิศเหนือลงมาทางทิศใต้ผ่านพื้นที่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ตาก และบรรจบกับแม่น้ำวังที่จังหวัดตากและไหลผ่านจังหวัดกำแพงเพชร และไปบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์
มีความยาวรวมทั้งสิ้น 740 กม. ลำน้ำสาขาที่สำคัญได้แก่ แม่แตง แม่งัด แม่กวง แม่ขาน แม่แจ่ม รวมทั้งแม่น้ำวังซึ่งเป็นสาขาหลักที่ใหญ่ที่สุดด้วย
แม่น้ำปิงมีความยาวประมาณ 740 กม. มีต้นกำเนิดจากบริเวณเทือกเขาผีปันน้ำ สภาพภูมิประเทศตอนบนของลุ่มน้ำปิงเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนปกคลุมด้วยป่าไม้
ลำน้ำในช่วงที่ไหลผ่านท้องที่อำเภอเชียงดาวอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 500-1,300 เมตร รทก. ความลาดชันท้องน้ำประมาณ 1:40 ลำน้ำช่วงที่ผ่านหุบเขาตอนบนในเขตอำเภอแม่แตงมีระดับความสูงประมาณ 320-500 เมตร รทก.
ความลาดชันท้องน้ำประมาณ 1:50 ลำน้ำช่วงที่ผ่านที่ราบในหุบเขาในเขตอำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม อำเภอเมือง มีระดับความสูงประมาณประมาณ 260-300 เมตร รทก. ความลาดชันของท้องน้ำประมาณ 1:1,800
ลำน้ำช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่ราบในหุบเขาก่อนไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มีระดับความสูง 140-260 เมตร รทก. ความลาดชันท้องน้ำประมาณ 1:1,590
พื้นที่ราบตอนล่างของเขื่อนภูมิพล อยู่ในพื้นที่จังหวัดตาก กำแพงเพชร และนครสวรรค์ มีระดับความสูงประมาณ 25-140 เมตร รทก. ความลาดชันท้องน้ำประมาณ 1:2,300
2.ลุ่มน้ำวัง
ลุ่มน้ำวังมีอาณาเขตทิศเหนือติดกับลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำกก ทิศใต้และทิศตะวันตกติดกับลุ่มน้ำปิง ทิศตะวันออกติดกับลุ่มน้ำยม
ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10,791 ตารางกิโลเมตร หรือ 6,744,375 ไร่ เป็นแควที่มีขนาดเล็ก และสั้นที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมเขตปกครอง 2 จังหวัด คือจังหวัดลำปางและตาก
โดยพื้นที่ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 อยู่ในเขตจังหวัดลำปาง มีความยาวตามลำน้ำประมาณ 460 กิโลเมตร เกิดจากเทือกเขาผีปันน้ำ บริเวณดอยหลวง บ้านป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ในเขตอำเภอ
เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดลำปางพะเยา และเชียงราย ไหลผ่านหุบเขาและเข้าสู่ที่ราบในเขตตัวเมืองจังหวัดลำปาง และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำปิงด้านท้ายน้ำจากเขื่อนภูมิพลไปประมาณ 30 กิโลเมตร
ที่บ้านปากวัง ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก
สภาพภูมิประเทศตอนบนของลุ่มน้ำวังเป็นเทือกเขาและป่าไม้ มีความลาดชันของแม่น้ำวัง ประมาณ 1:60 เมื่อไหลผ่านพื้นที่อำเภอวังเหนือและอำเภอแจ้ห่ม
ความลาดชันจะลดลงเหลือประมาณ 1:360 โดยมีระดับความสูงระหว่าง +365 ถึง +440 เมตร รทก. ความลาดชันก่อนไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลมจะลดลงอีก
โดยมีความลาดชันเฉลี่ย 1:1,260 พื้นที่ตอนล่างของเขื่อนกิ่วลมเป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่อยู่ในเขตอำเภอเมืองลำปาง อำเภอเกาะคาและอำเภอสบปราบ
มีลำน้ำสาขาหลายสายไหลมาบรรจบ เช่น น้ำแม่จางและน้ำแม่ต๋ำ ก่อนที่จะไหลผ่านที่ราบแคบๆ ตามหุบเขาในเขตอำเภอเถิน อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง
และไหลเข้าพื้นที่ราบในเขตจังหวัดตากไปบรรจบแม่น้ำปิงที่บ้านปากวัง ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก โดยมีความลาดชันของลำน้ำเฉลี่ย 1:1,990
และระดับความสูงของพื้นที่ประมาณ +130 เมตร รทก.
3.ลุ่มน้ำป่าสัก
ลุ่มน้ำป่าสักเป็นลุ่มน้ำลำดับที่ 12 จากลุ่มน้ำในประเทศไทย 25 ลุ่มน้ำ มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 16,292 ตารางกิโลเมตร
รูปร่างลุ่มน้ำคล้ายขนนก แคบ เรียวยาว มีความกว้างประมาณ 45 กิโลเมตร และมีความยาวประมาณ 350 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่ครอบคลุมบางส่วนเขตภาคกลาง ภาคเหนือ
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำป่าสัก ตอนบนจะเป็นบริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาสูงล้อมบริเวณด้านเหนือ
ด้านตะวันตกและด้านตะวันออกของจังหวัดเพชรบูรณ์ และมีพื้นที่ราบอยู่ตอนกลาง มีความลาดชันเฉลี่ยประมาณ 1:1,400 จากทิศเหนือลงไปทิศใต้
พื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 110-115 เมตร ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักตอนกลางมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสลับเนินเขาและภูเขา
มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 45-60 เมตร เทลาดลงมาทางทิศใต้ โดยพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นพื้นที่ค่อนข้างราบสลับเนินเขา
ส่วนพื้นที่ทางทิศตะวันออกยังคงเป็นเทือกเขาและภูเขาสลับเนินเขา ครอบคลุมบริเวณตอนล่างของจังหวัดเพชรบูรณ์ พื้นที่จังหวัดลพบุรี สระบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมาบางส่วน
ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักตอนล่าง บริเวณด้านตะวันออกตอนล่างและตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นแนวเทือกเขาดงพญาเย็น เขาสามหลั่น
ต่อเนื่องถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 5-30 เมตร ความลาดชันเฉลี่ยตามแนวลำน้ำป่าสักประมาณ 1:7,000
ครอบคลุมบริเวณส่วนของจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา และจังหวัดนครศรีอยุธยา
4.ลุ่มน้ำสะแกกรัง
ลุ่มน้ำสะแกกรัง ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศไทย มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมทั้งสิ้น 5,192 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด
ได้แก่ อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท และกำแพงเพชร ลักษณะลุ่มน้ำวางตัวตามแนวตะวันตก-ตะวันออก อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 14 องศา 25 ลิปดา เหนือ ถึงเส้นรุ้งที่ 15 องศา 08 ลิปดา เหนือ
และเส้นแวงที่ 99 องศา 05 ลิปดา ตะวันออกถึงเส้นแวงที่ 100 องศา 05 ลิปดา ตะวันออก ทิศเหนือของลุ่มน้ำติดกับลุ่มน้ำปิง ทิศใต้ติดกับลุ่มน้ำท่าจีน ทิศตะวันตกติดกับลุ่มน้ำแม่กลอง
และทิศตะวันออกติดกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา
บริเวณทิศตะวันตกของลุ่มน้ำเป็นเทือกเขาสูง เป็นเขตต้นน้ำของลำน้ำสาขาที่สำคัญหลายสาย ได้แก่ น้ำแม่วง คลองโพธิ์ และห้วยทับเสลา
ต้นกำเนิดของลำน้ำสะแกกรังคือเทือกเขาโมโกจู ซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดตากและจังหวัดนครสวรรค์ ต้นน้ำของลำน้ำสาขาทั้ง 3 สายนี้จะมีความลาดชันค่อนข้างมากและค่อย ๆ
ลาดเทลงจนไหลออกสู่ทุ่งราบของลุ่มน้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศตะวันออกของลุ่มน้ำ ลำน้ำสาขาซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสะแกกรัง ได้แก่ ห้วยแม่วง ไหลผ่านกิ่งอำเภอแม่วงก์และอำเภอลาดยาว
จังหวัดนครสวรรค์ มาบรรจบกับห้วยคลองโพธิ์ ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาบริเวณแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดอุทัยธานี ที่อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี
กลายเป็นแม่น้ำตากแดด แล้วไหลลงมาบรรจบกับห้วยทับเสลา ในเขตอำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี เข้าเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ไหลเลาะเลียบผ่านภูเขาสะแกกรัง จึงได้ชื่อว่าแม่น้ำสะแกกรัง
ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนเหนือของเขื่อนเจ้าพระยา
|
|
สภาพทั่วไปของพื้นที่ลุ่มน้ำปิง |
สภาพทั่วไปของพื้นที่ลุ่มน้ำวัง |
|
|
สภาพทั่วไปของพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก |
สภาพทั่วไปของพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง |